“ลูกเราเกิดมาอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็เข้าๆ ออกๆ หนีบ้าง อยู่บ้าง งานการก็ไม่ได้ทำ"
เป็นคำพูดเปิดใจของ "มะนาวี"
มือประกอบระเบิดซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ที่ได้อธิบายเหตุผลของการตัดสินใจหันหลังให้ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยก
ดินแดน ซึ่งก่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่องมานานเกือบ 9 ปี
เหตุผลของ "มะนาวี" ไม่ต่างอะไรกับ "บักรี"
หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธผู้รับผิดชอบหนึ่งในสามโซนของ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
"ทุกคนอ่อนที่ครอบครัวทั้งนั้น พอได้แฟน ได้ลูก เราก็จะกลับมาคิด"
"เรามองชีวิตที่เป็นอยู่แล้วไม่สบายใจ เห็นคนอื่นซื้อไอศครีมแท่งละ 25
บาทให้ลูก เราต้องซื้อลูกชิ้นไม้ละ 5 บาทมี 4 ลูก ช่วงรายอต้องหลบๆ ซ่อนๆ
พาลูกไปหาปู่ย่าตายายก็ไม่ได้ ส่วนลูกคนอื่นใส่ชุดหล่อไปเที่ยว
เราพาไปไม่ได้ สายตาของลูกที่ผิดหวังทำให้เราคิดหนัก" บักรี บอก
มะนาวี กล่าวเสริมว่า ทำหน้าที่ประกอบระเบิดมาหลายปี
ไม่เคยมีอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ วันหนึ่งก็ล้มป่วย อาการหนักมาก
แต่พอเข้าโรงพยาบาลแล้วรอดกลับมาได้ จึงรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่
"ขบวนการเคยบอกว่าเกิดอะไรขึ้นจะดูแลทุกอย่าง แต่พอเกิดจริงๆ
กลับไม่ได้ดูแล ตรงนี้ทำให้เราคิดหนัก ผมหายป่วยกลับมาก็โดนหมาย พ.ร.ก.
(ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)
เมื่อปีที่แล้ว ถูกจับอยู่ 6 วัน ออกมาได้ผมก็เลยหนีไปมาเลย์
ตอนหลังผมได้แฟน และแฟนก็ท้องด้วย
ก็เลยเห็นใจเขาและอยากเลิกทำงานให้ขบวนการเสียที"
นอกจากผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวแล้ว สิ่งที่ทั้ง "มะนาวี" และ "บักรี"
พูดออกมาตรงกันก็คือ
ความรู้สึกของพวกเขาที่เหมือนถูกขบวนการหักหลังและหลอกใช้
"ใครถูกจับ ขบวนการบอกว่าเท่ากับไปพักผ่อน ไม่ต้องทำอะไร แต่ใครล่ะจะอยากพักผ่อนแบบนี้ และตลอดมาขบวนการไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย" มะนาวี ระบุ
ขณะที่ "บักรี" ตั้งคำถามว่า ไหนบอกทำเพื่อศาสนา
เคยถามคนในขบวนการด้วยกันว่าเพื่อศาสนาอย่างไร
ให้พาคนที่เหนือกว่ามาคุยก็ตอบไม่ได้ ที่สำคัญพรรคพวกที่ติดคุก
กลับบอกให้ไปพักผ่อน ทั้งๆ ที่คุกมันไม่ใช่สถานที่พักผ่อน
"การกระทำของเราไม่ได้ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน วางระเบิดตูม
ชาวบ้านกรีดยางไม่ได้ 2 อาทิตย์ แล้วเราได้อะไร เราเองก็ไม่ได้อะไร
ชาวบ้านก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่ระเบิด ไม่ยิง ชาวบ้านก็กรีดยางได้" บักรี
บอกพร้อมกับบทสรุปในความคิดของเขา
"ที่ขบวนการเคยบอกพวกเรามันไม่จริงสักอย่าง แล้วผมจะพาลูกน้องไปไหน
ขบวนการจะพาเราไปที่ไหน เราจะรบไปถึงเมื่อไหร่ และสุดท้ายคงไม่พ้นถูกจับ
ถ้าไม่ถูกจับก็ตาย"
ด้วยเหตุผลดังว่านี้เองที่ทำให้ "มะนาวี" และ "บักรี" กับเพื่อนๆ อีกราว
80 ชีวิตซึ่งฝ่ายความมั่นคงจัดกลุ่มพวกเขาว่าเป็น "นักรบ"
ในฐานะผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ พร้อมใจกันออกมาแสดงตัวและพบปะกับ
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4
ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 11
ก.ย.2555 เพื่อพูดคุยถึงแนวทางในการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขหลังวางปืน
แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นความปรารถนาขั้นพื้นฐานก็คือ ให้รัฐถอนหมาย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหมายจับตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)
ดูแลความปลอดภัยหลังจากออกจากป่ากลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวแล้ว และหางานให้
ทำ
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงความรู้สึกจาก "นักรบอาร์เคเค" วัยไม่ถึง 30
ปีที่โดนเพียงหมาย พ.ร.ก.
แต่สำหรับอดีตนักต่อสู้ผู้สูงวัยกว่าและผ่านเรื่องร้ายๆ มามากกว่านั้นอย่าง
อับดุลรอซะ การ์เด ซึ่งถูกจับกุมในคดีความมั่นคงหลายคดี
และใช้ชีวิตในเรือนจำมานานกว่า 3 ปี เขาย่อมมีข้อเสนอในใจมากกว่า "มะนาวี"
กับ "บักรี" เป็นแน่
"ในสามจังหวัด สิ่งที่ต้องมาอันดับต้นๆ คือความจริงใจ รัฐต้องจริงใจก่อน
ทุกคนพอถึงจุดนี้ต้องการความยุติธรรม ผมติดคุกมาแล้ว
ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมีจริง
แต่ปัญหาอยู่ในช่วงก่อนจะถึงกระบวนการยุติธรรม
นั่นก็คือกระบวนการสรรหาพยานหลักฐานว่ามีความยุติธรรมหรือไม่
มีการใส่ร้ายหรืออาศัยเพียงคำซัดทอดหรือเปล่า"
"ผมได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าคดีถึงศาล ศาลมีความยุติธรรมจริง
ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐาน
ฉะนั้นปัจจัยของความเป็นธรรมคือกระบวนการก่อนถึงศาลยุติธรรม"
เขาขยายความอีกว่า หลายคดีเจ้าหน้าที่มีแค่คำซัดทอดก็ออกหมายจับ
เมื่อออกหมายแล้วก็ต้องจบด้วยการจับ อายุความ 20 ปี
ทำให้คนที่ถูกออกหมายหนีไปมาเลย์ เพราะจะไปจ้างทนายก็ไม่มีเงิน
แต่ข่าวออกว่าหนีไปกบดาน
"พอเกิดเหตุปุ๊บ ชื่อออกมาแล้วว่าคนโน้นทำ คนนี้สั่งการ สังคมสื่อเขาแย่งกันขายข่าว แต่คนที่อ้างถึงไม่มีพื้นที่ที่จะชี้แจง"
อับดุลรอซะให้น้ำหนักกับเรื่องความเป็นธรรมเป็นพิเศษ
เพราะเขาถูกจับกุมดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 5 คดี ทั้งในพื้นที่ อ.แว้ง
อ.สุไหงปาดี และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แต่สุดท้ายศาลยกฟ้องหมด
เขาเพิ่งได้อิสรภาพเมื่อ 2 เดือนเศษที่ผ่านมา โดยระหว่างอยู่ในเรือนจำ
เขาได้รับการยอมรับเสมือนหนึ่ง "ผู้นำ"
และเคยเป็นตัวแทนเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อครั้งจลาจลในเรือนจำนราธิวาส
เมื่อปีก่อน
3 ปีในเรือนจำเปลี่ยนแปลงความคิดของอับดุลรอซะไปมากทีเดียว...
"เราต้องพลัดพรากจากครอบครัว ทุกคนต้องเอาครอบครัวไว้ก่อน
เมื่อมีครอบครัวก็ต้องมีงานทำ ฉะนั้นเราจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้
ถ้าให้เรากลับไปอยู่ในสังคม สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือความปลอดภัย
ไม่ได้ต้องการ 100% แต่ถ้าเรามีปัญหาอะไรต้องได้พูดคุย
และต้องได้รับการตอบรับที่ดี อีกเรื่องคืออาชีพการงาน อย่างผม 3
ปีที่ผ่านมา คดียกฟ้องไปหมด แต่ถามว่ากระบวนการที่พลาดพลั้งไปนี้
ผมจะได้อะไร"
อับดุลรอซะ ยังฝากไปถึงระดับนโยบายที่แก้ไขปัญหาภาคใต้กันมา 7 รัฐบาลแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น
"ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลมาทีก็เปลี่ยนที ทั้งๆ
ที่เราทำโครงการต้องมีความต่อเนื่อง แต่นี่รัฐบาลโน้นการเมืองนำการทหาร
รัฐบาลนี้ทหารนำการเมือง ทหารเองก็เหมือนกัน พอนายเปลี่ยนคนก็เปลี่ยนนโยบาย
ฉะนั้นกว่าจะเริ่มทำงานได้ก็สาย ก็ตามฝ่ายขบวนการอีกก้าว"
"สิ่งที่อยากเห็นก็คือรัฐบาลเปลี่ยน ไม่มีปัญหา
แต่นโยบายต้องสอดคล้องกับที่ตั้งต้นมา ใครจะเป็นนายกฯ เป็นแม่ทัพไม่มีปัญหา
แต่นโยบายเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ว่ากันตรงๆ"
อับดุลรอซะ คาดหวังว่า การพบปะกับแม่ทัพภาค 4 เมื่อวันที่ 11
ก.ย.จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เป็นนิมิตหมายที่จะนำพาสถานการณ์กลับสู่ความสันติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น